โครงการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการไม่ได้อยู่ในแผนแม่บทของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี พ.ศ. 2540 - 2549 ฉบับแรก มหาวิทยาลัยวางแผนจะจัดตั้งคณะวิชา เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคตะวันตกบนฐานสาขาวิชาที่ มหาวิทยาลัยมีศักยภาพอยู่แล้ว คือ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะสารธารณสุขชุมชนศาสตร์ คณะสารสนเทศศาสตร์ และคณะสัตวศาสตร์ อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยได้ทบทวนแผนแม่บทตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจและงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ลดลงเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นจึงบรรจุ คณะวิทยาการจัดการ (ซึ่งครอบคลุมสาขาวิชาการโรงแรม การจัดการการท่องเที่ยว และการจัดการด้านศิลปวัฒนธรรม) ลงในแผนแม่บทเมื่อปี พ.ศ. 2543 พร้อมๆกับคณะสัตวศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นต้น
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตฯ นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา การจัดตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่จึงมิอาจเป็นมหาวิทยาที่ลัยสมบูรณ์แบบเหมือนวิทยาเขตพระราชวัง สนามจันทร์ได้สถานการณ์งบประมาณ ของมหาวิทยาลัยขณะนั้น ทำให้นโยบายจัดการศึกษา ที่สำคัญของวิทยาเขตแห่งใหม่ เน้นการพึ่งพาตนเองด้านงบประมาณ จัดตั้งให้เป็นหน่วยงาน ในกำกับ การประหยัด โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันของ หน่วยงานในวิทยาเขต การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการจัดการศึกษา เพื่อลดภาระเงินเดือน / ค่าจ้างในระยะยาว (อาทิ เทคโนโลยีการสอนทางไกลแบบสองทาง สอนโดยอาจารย์ที่สนามจันทร์ และที่กรุงเทพฯ) และการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการลงทุนขององค์กร ปกครองท้องถิ่น
อาจารย์พุฒ วีระประเสริฐ เริ่มเป็นอธิการบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 และได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา (อาจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดตั้งคณะวิชาที่จัดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตใหม่ เนื่องจากคณะสัตวศาสตร์ฯ ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่เพชรบุรีได้ จึงต้องจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ เพื่อจัดการเรียนการสอนที่เพชรบุรีให้ได้ในปีการศึกษา 2545
โดยสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบโครงการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2545 ระยะแรกจัดการเรียนการสอนหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต 3 สาขาวิชา ได้แก่ การจัดการการท่องเที่ยว การจัดการชุมชน การจัดการธุรกิจทั่วไป